วันก่อนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานจากเทศบาลใกล้เคียง ซึ่งเป็นเทศบาลที่ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี และได้พูดคุยกับท่านปลัด ผมเองได้ความรู้จากท่านปลัดหลายอย่าง อย่างนึงที่เกิดสะดุดสิ่งที่ท่านปลัดได้พูด คือ "คุณรู้หรือเปล่า เกษียณ กับ เกษียน มีความหมายต่างกันอย่างไร"
ผมว่ายังคงมีหลายท่านที่ยังไม่ทราบความหมายของคำว่า เกษียน คืออะไร? ส่วนคำว่าเกษียณน้้นส่วนใหญ่ทราบอยู่แล้วว่ามีความหมายเกี่ยวกับอายุ เช่นการเกษียณอายุราชการ หมายถึง การสิ้นไป หรือการสิ้นสุดของการรับราชการ เป็นต้น
วันนี้ผมเลยอยากที่จะมาเผยแพร่ ความหมายและความรู้เกี่ยวกับการการเกษียนหนังสือให้ท่านทราบ
เกษียน เขียน น หนู สะกด มาจากคำว่า เขียน เกษียนหนังสือ มีความหมายว่าการเขียนหนังสือ แยกเป็น เกษียน (เขียน) + หนังสือ เป็นคำแผลงของภาษาไทย ไม่ใช่คำที่มาจากภาษาสันสกฤต เป็นคำสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้ในความหมายว่า ข้อความที่เขียนแทรกไว้ (ประพันธ์ เวารัมย์) ในการเกษียนหนังสือนั้นเป็นการเขียนข้อความลงในหนังสือในลักษณะที่เป็นการเขียนแทรก หรือที่เรียกว่าเป็นการบันทึกแทรกลงในหนังสือ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการบันทึกว่า "บันทึก หมายถึง ข้อความที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ข้อความที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ....."
ตามสำนักราชบัณฑิตยสภา คำว่า เกษียณ เขียน สระเอ ก ไก่ ษ ฤๅษี สระอี ย ยักษ์ ณ เณร แปลว่า สิ้นไป ใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุของการทำงาน เช่น ข้าราชการเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี
เป็นความรู้ที่รู้ไว้ใช่ว่า ความรู้รอบตัวที่รู้แล้วจะทำให้คนรู้ดูดีดูเท่ห์ครับ และต่อไปจะได้ใช้ให้ถูกต้อง